"ท่านคือซูเปอร์ฮีโร่ของพ่อ..." หลักคำสอนที่คนไทยรุ่นใหม่ควรเริ่มตระหนักถึง


"ทำไมต้องลุกขึ้นยืนทุกครั้งเลย...?" 
          ประโยคคำถามจากเด็กตัวจ้อยดังขึ้นมา สวนกันกับเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีที่กำลังจบและบรรเลงเสียงเบาลง เหตุเกิดขึ้นที่โรงหนังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯย่านเขตบางนา ซึ่งผู้เขียนเองเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาแล้วบ่อยครั้ง และบ่อยครั้งมากเมื่อเข้าชมหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ หรือหนังการ์ตูนกราฟฟิคที่ได้รับความนิยมดีๆ จากผู้เข้าชมกลุ่มครอบครัว ที่พาลูกหลานเข้ามาชมด้วยในวันหยุดสุดสัปดาห์ และครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน "เขาเก่งมากมั๊ยอ่ะพ่อ...?"

"ท่านคือซูเปอร์ฮีโร่ของพ่อ..."
          คำตอบที่เด็กน้อยได้จากพ่อ หลังช่วงเวลาเหตุการณ์ข้างบนนั้น ช่างเป็นคำตอบที่ประทับใจ และยังได้ยินแว่วอยู่จนถึงขณะนี้ ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่าคุณเองก็อาจจะเคยได้ยินคำถามแบบนี้มาแล้วบ้าง จากเด็กๆในสังคมยุคใหม่ ที่ไม่รู้เท่าถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของ "ในหลวง" ที่ทรงเสด็จช่วยเหลือราษฎรพัฒนาประเทศในยามยากไร้ ทรงพระวิริยะอุตสาหะวิจัย และวางแผนระยะยาวเพื่อให้เกิดประโยชน์อันยั่งยืน ทรงเป็น "ซูเปอร์ฮีโร่" ในหัวใจของคนไทยทั้งประเทศอย่างแท้จริง เมื่อครั้งในยุคที่พ่อแม่ยังเป็นเด็กอยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่าน 


"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
          หนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยมาอย่างยาวนาน คือพระราชดำรัสที่พวกเราส่วนใหญ่พูดติดปากกันคือ "ความพอเพียง" ปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยของสังคมใดๆ ยิ่งโดยเฉพาะด้านการเกษตร ที่ถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานของชีวิตของคนไทย

          ช่วงปี 2517 หลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จเยี่ยมไต่ถามความทุกข์สุขของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้รับฟังเหตุของปัญหาและนำกลับมาวิจัย ทรงมองเห็นถึงอนาคตและเล็งเห็นถึงประโยชน์มหาศาลในระยาวต่อคนไทย เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นต้องสร้างพื้นฐานความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ ให้มีความพอมี พอกิน พอใช้เป็นเบื้องต้นก่อน จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและยกฐานะเศรษฐกิจสู่ขั้นสูง จนเกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่มีที่ดินแต่ยากไร้ ให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยแผ่นดินของตนเองอย่างมั่นคง โดยแบ่งออกเป็น 3 แนวคิดหลักใหญ่คือ
 
1. การพัฒนาทรัพยากรน้ำ 
          ทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมีทั้งโครงการขนาดใหญ่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จังหวัดลพบุรี จนถึงโครงการขนาดกลางและเล็กจำพวก ฝายอ่างเก็บน้ำ โดยพระองค์ทรงคำนึงถึงลักษณะของภูมิประเทศ สภาพแหล่งน้ำ ความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ ประชาชนที่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากโครงการ มาเป็นหลักในการพิจารณา พระองค์ได้ทรงวิจัยและริเริ่มโครงการฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน


2. การพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ 
          เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 3:3:3:1 เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ
 - ให้มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็ก 
 - ให้มีการคำนวณปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง
 - ให้มีการวางแผนการทำเกษตรสำหรับเลี้ยงตนเองและเพื่อเป็นรายได้


3. การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง
          เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฏีของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่าง สังคมระดับท้องถิ่นและตลอดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์ และการอยู่รวมกันของทุกคนในสังคม


          และนี่คือพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน ที่เปี่ยมไปด้วยความห่วงใย ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ที่ยังคงเป็นรากฐานหลักของชาติ ได้น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสุขที่แท้จริงอย่างยั่งยืนต่อไป











เรียบเรียงข้อมูลโดย : เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ
ที่มา : 


กดถูกใจเพจเพื่อติดตามอัพเดททุกเรื่องเด็ด
บอกต่อเรื่องนี้ให้เพื่อนคุณ

About เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ

ขอบคุณทุกเรื่องเด็ด และเรื่องราวดีๆ จากทุกแง่มุมในสังคม เราจะหามาแชร์และส่งต่อให้เพื่อนบนโลกโซเชียลได้รับรู้ รับทราบกันอย่างทั่วถึง คุณเองก็สามารถทำได้ "กดแชร์" เรื่องเด็ดที่คุณชอบเลยสิ!