บทสวด "พระคาถาบูชาพ่อแม่" ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ทรงเทศน์ถวายแก่รัชกาลที่ 4




"ทำบุญกราบพระนอกบ้าน" เสร็จแล้วก็อย่าลืมทำบุญกราบ พระในบ้าน ด้วย ดังที่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งของ สมเด็จโต หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่ได้ทรงเทศนาธรรมถวายแก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากคำเทศน์ตอนหนึ่ง จริงแท้ที่ว่า "พระอรหันต์ คือ พระผู้ประเสริฐ" ของสาธุชนฉันใด กระนั้นแล้ว "พ่อแม่ ก็คือ พระอรหันต์" ของลูกฉันนั้น

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

นามที่นิยมเรียก
สมเด็จโต, หลวงปู่โต, สมเด็จวัดระฆัง
เกิด
17 เมษายน พ.ศ. 2331
มรณภาพ
22 มิถุนายน พ.ศ. 2415
อายุ
84
บรรพชา
พ.ศ. 2343
อุปสมบท
พ.ศ. 2351
พรรษา (จำนวนปีที่บวช)
64
ท้องที่
วัดระฆังโฆสิตาราม, ธนบุรี
สังกัด
มหานิกาย
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์
เจ้าอาวาส วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร


เรื่องคือ มีคราวหนึ่ง สมเด็จโต ท่านได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมาท่ามกลางเหล่าขุนนาง ข้าราชการและข้าราชบริพาร ครั้นพอพบหน้าท่าน เจ้าผู้ครองแผ่นดินก็ทรงสัพยอกว่า... "ท่านเจ้าคุณ เห็นเขาชมกันทั้งเมืองว่าท่านเทศน์ดีนัก นี่วันนี้ต้องขอพิสูจน์หน่อย"

สมเด็จโต ทูลว่า "ผู้ที่ไม่เคยฟังในธรรม ครั้นเขาฟังธรรมและได้รู้เห็นในธรรมนี้แล้ว เขาก็ชมว่าดีทูลถวายพระพรมหาบพิตร และในวันนี้ อาตมาจะมาเทศนาเรื่องพระอรหันต์ในบ้าน"

สมเด็จโต แสดงเทศน์ธรรมวัตร ถวายแด่รัชกาลที่ 4 "พระอรหันต์ในบ้าน"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหล่าขุนนาง ข้าราชบริพารต่างก็มีความสงสัย เพราะเคยได้ยินแต่ว่าพระอรหันต์ท่านจะอยู่ในถ้ำ ในป่า ในเขา สมเด็จโต ท่านได้ขยายความต่อไปว่า จิตพระอรหันต์เป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านละจากความโลภ โกรธ หลง ไม่ยินดีและยินร้ายในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
รัชกาลที่ 4

ทำบุญกับพระอรหันต์ หากใครได้ทำแล้วไซร้ก็ถือได้ว่าเป็นที่สุดของ "บุญ" เป็น "ลาภอันประเสริฐ"  ที่ได้ทำกับท่าน จะได้ผลในชาติปัจจุบันทันที ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า ทุกๆ คนจึงมุ่งเสาะแสวงหาแต่พระอรหันต์ที่อยู่นอกบ้าน แต่ไม่เคยมองเห็น "พระอรหันต์ที่อยู่ในบ้าน" เลย

ฟังเทศนาธรรม แบบนี้ครั้งแรก ทุกคนที่นั่งฟังอยู่ในที่แห่งนั้นต่างทำสีหน้างุนงงไปตามกัน เพราะไม่เข้าใจความหมาย สมเด็จโต จึงยิ้มพร้อมเทศนาต่อไปว่า "พระอรหันต์ คือ พระผู้ประเสริฐ" คนเราทั้งหลายพยายามออกจากบ้าน ไปค้นหาพระผู้ประเสริฐ เพียงหวังยึดท่าน เกาะผ้าเหลืองเกาะหลังท่าน เพื่อให้ท่านพาไปสู่ความสุข แม้ว่าท่านจะอยู่ไกลสุดขอบฟ้า คนเราก็ยังคงดั้นด้น ดิ้นรนไปหา เพื่อหวังเป็นที่ยึดเหนี่ยวบูชา

แต่พระที่อยู่ภายใน อยู่ใกล้ตัวที่สุดกลับมองข้าม มองไม่เห็นเหมือนใกล้เกลือกินด่าง พระนั้นคือ "พ่อแม่ ผู้น้ำใจอันประเสิรฐ" ที่มอบให้ต่อลูกๆ มีแต่ความบริสุทธิ์ ไม่คิดหวังสิ่งใดตอบแทน เช่นเดียวกับพระอรหันต์ที่ให้ต่อมนุษย์ ที่มีแต่ความบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน

พ่อและแม่ จึงเปรียบเสมือนพระอรหันต์ของลูก ท่านมีน้ำใจบริสุทธิ์ต่อลูกมากมายนัก ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่อยู่ในท้องของท่าน ทนทุกข์ทรมานร่วมเก้าเดือนบ้าง สิบเดือนบ้าง แต่ท่านไม่เคยปริปากบ่นสักนิด มีแต่ความสุขใจ

แม้ลูกเกิดออกมาแล้วพิการ หูหนวกตาบอด ท่านก็ยังรักสงสาร เพราะท่านคิดเสมอว่านั่นคือ "สายเลือด" ถือว่าเป็น "ลูก" ไม่เคยคิดรังเกียจและทอดทิ้ง แต่ท่านจะเพิ่มความรัก ความสงสารมากยิ่งขึ้น

ครั้นตอนที่เราเป็นเด็กเล็กๆ ก็ซุกซนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราเคยหยิก เคยข่วน ทุบตี เตะ ต่อย กัด หรือด่าทอพ่อแม่ต่างๆ นานา เพราะความไร้เดียงสา ท่านก็ไม่เคยโกรธ กลับยิ้มร่าชอบใจ เพิ่มความรักความเอ็นดูให้เสียอีก จนแม้เราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รู้ผิดชอบชั่วดี แต่บางครั้งด้วยความโกรธ ความหลง เราก็ยังทุบตีและด่าทอท่านอยู่ แทนที่ท่านจะโกรธหรือโทษเอาผิดต่อเรา ท่านกลับยอมนิ่งเฉย รับทุกข์เพียงอย่างเดียว ยอมเสียน้ำตา ยอมเป็นเครื่องรองรับมือ เท้าและปากของเราผู้เป็น "ลูก"

สำหรับเพื่อลูกๆแล้ว ท่านเสียสละให้ทุกอย่าง ท่านให้ "อภัย" ในการกระทำของเรา เพียงเพราะท่านกลัวเราจะมีบาปกรรมติดตัว จึงยอมที่จะเจ็บยอมทุกข์เสียเอง ไม่มีใครในโลกนี้จะรักเราและหวังดีต่อเราอย่างจริงจังและจริงใจเหมือนพ่อแม่ ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กจนเราเติบใหญ่ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และกำลังทรัพย์ให้แก่เราอย่างมากมาย จนไม่อาจจะประมาณค่าตัวเลขได้

ในบางครั้งลูกหลงผิด เป็น "คนชั่ว" ด้วยอารมณ์โทสะ เป็นคนเมาขาดสติ ก่อกรรมทำเข็ญเป็นที่เดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของบ้านเมือง ในสายตาของท่านแล้ว

หลวงปู่โต
ขณะนั่งธรรมาสน์ ถือคัมภีร์ใบลาน  


เมื่อมีภัยมาสู่ลูก ทั้ง "แม่" และ "พ่อ" ก็ยังปกป้องรักษาช่วยเหลือลูกอย่างเต็มกำลังและความสามารถ เสียทรัพย์สินเท่าใดก็ยอมให้ลูกพ้นผิด  แม้ลูกถูกจองจำ พ่อแม่เท่านั้นที่คอยหมั่นดูแลไปเยี่ยม คอยส่งน้ำอาหาร คอยให้กำลังใจแก่ลูกให้ต่อสู้ความเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานของจิตใจ และรอนับเวลาที่ลูกจะกลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้งหนึ่ง

น้ำใจที่มีต่อลูกเช่นนี้ เปรียบเท่า "พระอรหันต์" โดยแท้ พ่อแม่จึงเป็นพระอรหันต์ในบ้านของเราจริงๆ แล้วทำไมพวกท่านจึงไม่คิดทำบุญกับพระอรหันต์ ที่อยู่ในบ้านเล่า

ถึงพ่อแม่จะเป็น "โจร" เป็นคนชั่วในสายตาของคนอื่น แต่กับ "ลูก" ท่านเสียสละให้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง พ่อแม่มีลูกนับ 10 คน เลี้ยงดูเติบใหญ่ได้ และลูกทั้ง 10 คน กลับเลี้ยงดูพ่อแม่เพียง 2 คน ไม่ได้ ชอบเกี่ยงกันเพราะลูกเหล่านั้นกำลังลืมคำว่า "พระคุณของพ่อแม่"

ยามที่พ่อแม่ยัง "มีชีวิตอยู่" เราควรที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ โดยการมีอาหารให้ท่านกิน ซื้อเสื้อผ้าของใช้พาท่านไปทำบุญเข้าวัดเข้าวา อะไรก็ตามที่ทำให้ท่านมีความสุขก็ควรทำให้ท่าน ดูแลความทุกข์สุขและเลี้ยงดู "จิตใจ" ท่าน เชื่อฟัง "โอวาท" คำเตือนของท่าน

คำพูดคำจา ที่จะพูดกับท่านก็ต้องระมัดระวัง ถนอมน้ำใจท่านเพราะคนแก่นั้นใจน้อย ต้องรักษาน้ำใจท่าน อย่าทำให้ท่านต้องเสียใจ ด้วยคำพูดนิ่มหูฟังแล้วสบายใจ ไม่ปล่อยทิ้งท่านให้อยู่อย่าง "ว้าเหว่" คอยเอาใจใส่ปรนนิบัติ ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด

แต่คนส่วน มากมักจะทำบุญให้พ่อแม่ เมื่อยามท่านได้ตายจากเราไปแล้ว นั่นคือ "การพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด" ในชีวิตของลูก ที่จริงแล้วเราควรต้องทำบุญในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นลูก "กตัญญู กตเวที"

ขอให้สาธุชนทั้งหลาย ที่ได้ฟังธรรมวันนี้ จงกลับไปทำบุญกับพ่อแม่ผู้เป็นพระอรหันต์ในบ้าน การทำบุญแบบนี้จะได้อานิสงส์ทันตาเห็นในชาติปัจจุบัน บุญที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน คือบุญที่ทำกับพระอรหันต์ผู้ประเสริฐในบ้านของเรา เป็นจริงแท้และบูชาได้อย่างแน่นอน

ไม่เคยเห็นผู้ใดเลย ที่มีความกตัญญูต่อพ่อแม่แล้วต้องพบกับความวิบัติ ไม่เคยมี ทำมาหากินก็เจริญ แคล้วคลาดปลอดภัย ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ มีแต่ความสุข อายุยืนยาวตลอดกาลเวลา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลเหล่าขุนนาง ข้าราชบริพารทั้งปวง ได้ฟังคำเทศนา สมเด็จโต บ้างก็รู้สึกรื้นน้ำตาคลอ บ้างก็ก้มหน้าน้ำตาไหลออกมาสุดที่จะกลั้นได้ ด้วยความรัก ความสงสาร คิดถึงพระคุณพ่อแม่ขึ้นมา "เจ้าผู้ครองแผ่นดินแห่งสยามประเทศ" ในครั้งนั้นจึงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันสั่นเครือปนน้ำพระเนตรว่า "ท่านเจ้าคุณมาเทศน์ได้จับใจยิ่งนัก และขอให้ทุกคน จงกลับไปทำบุญกับพ่อแม่ ผู้เป็นพระอรหันต์เถิด"

อ่านเรื่องราวดังนั้นแล้ว นอกจากเราจะมีจิตกุศลคอยทำบุญทำทานแก่ผู้อื่น เราต้องอย่าละเลย "พระอรหันต์" ในบ้านเราเช่นกัน จึงขอนำเอาบทสวดพระคาถา "บูชาพ่อแม่" มาฝากทุกท่าน สามารถสวดได้ทุกวัน ไม่ต้องรอวันสำคัญใดๆ สวดพลางตั้งจิตระลึกให้เหมือนกับที่พ่อแม่ได้ดูแลทนุถนอมเราทุกวันที่ผ่านมา ตามบทสวดล่างนี้

บูชาพ่อแม่ผู้เป็นพระอรหันต์ของลูก

บทสวดพระคาถาบูชาพ่อแม่
ทำทุกวันก่อนนอน สวดแล้วมีแต่เจริญก้าวหน้า อุดมสุขยิ่งขึ้นไป

1. อิมินาสักกาเรนะ ข้าขอกราบสักการะบูชา อันพระบิดร มารดา ตัวข้าขอน้อมระลึกคุณ ท่านมีเมตตาการุณ อุปการะคุณต่อบุตรธิดา ท่านให้กำเนิดลูกมา ทั้งการศึกษาและอบรม ถึงแม้ลำบากขื่นขม ทุกข์ระทมสักเพียงใด ท่านไม่เคยหวั่นใหว ต่อสิ่งใดที่ใด้เลี้ยงมา พระคุณท่านล้นฟ้า ยิ่งกว่าธาราและแผ่นดิน ข้าขอบูชาเป็นอาจิณ ตราบจนสิ้นดวงชีวา ขอปวงเทพไท้รักษา อันพระบิดรมารดาของข้า เทอญ..

2. มัยหัง มาตาปิตูนังวะปาเทสุ วันทามิ สาทะรัง (กราบ 1 ครั้ง)

3. อะนันตะคุณะ สัมปันนา ชะเนติชะนากา อุโภ มัยหัง มาตา ปิตูนังวะ ปาทา วันทามิ สาทะรัง

หลังจากสวดบูชาแล้ว หากสะดวกก็ทำพิธีขออโหสิกรรมต่อเลยก็ได้ โดยให้เตรียมน้ำโรยดอกมะลิไปหนึ่งขัน แล้วพูดว่า...

"กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง โย โทโส อันว่าโทษใดความผิดอันใด ที่ข้าพเจ้าพลั้งเผลอสติไป ด้วยกายก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอใหคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย คุณพี่ คุณน้อง อโหสิกรรมให้ด้วย"

หลังจากนั้นราดน้ำรดมือ รดเท้า

กรณีพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว
ตามที่หลวงพ่อจรัญ ท่านแนะนำ ให้สามารถทำได้ตามนี้ ให้สวดขอขมาต่อหน้าพระพุทธรุปที่บ้าน หรือ ต่อหน้ารุปพ่อแม่ของเรา อาจจะนำรูปพ่อแม่ไปตั้งวางไว้ตรงหน้าต่ำกว่าพระพุทธรูปก็ได้แล้วกล่าวสวด หรืออีกกรณีไปถวายสังฆทานที่วัด จะนำรุป หรือ เอ่ยชื่อพ่อแม่เราแล้วกล่าวสวด ให้พระสงฆ์ท่านเป็นผุ้สาธุให้เราก็ได้

จดหมายเหตุ : ภาพถ่ายของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี และภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามประวัติกล่าวว่ากล้องถ่ายภาพได้เข้ามาสู่บ้านเราตั้งแต่สมัย ร.3 แต่ยุคนั้นยังไม่ค่อยนิยมด้วยมีความเชื่อแต่โบราณว่าหากมีรูปแทนตัวจะทำให้อายุสั้น

แต่ ร.4 ท่านทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ และท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) เป็นพระที่ ร.4 ทรงมีพระราชศรัทธายิ่ง(ดูได้จากประวัติ) เรียกได้ว่าเป็นพระคู่บารมีก็น่าจะไม่ผิด ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และชาวบ้านในยุคนั้นสืบมา


เรียบเรียงข้อมูลโดย : เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ
ที่มาข้อมูลและภาพ :
- วัดระฆังโฆสิตาราม
- วิกิพีเดีย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

กดถูกใจเพจเพื่อติดตามอัพเดททุกเรื่องเด็ด
บอกต่อเรื่องนี้ให้เพื่อนคุณ


About เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ

ขอบคุณทุกเรื่องเด็ด และเรื่องราวดีๆ จากทุกแง่มุมในสังคม เราจะหามาแชร์และส่งต่อให้เพื่อนบนโลกโซเชียลได้รับรู้ รับทราบกันอย่างทั่วถึง คุณเองก็สามารถทำได้ "กดแชร์" เรื่องเด็ดที่คุณชอบเลยสิ!