พระราชดํารัส
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
ได้ทรมานท่านทั้งหลายมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว แม้รายชื่อของผู้ที่มาในวันนี้ดูรายชื่อของคณะก็ใช้เวลานาน และคําอํานวยพรของอาจารย์ประภาศน์(๓) ก็ทําให้ท่านทั้งหลายต้องยืนอยู่อีกนาน ฉะนั้นจะขอถามว่าให้ท่านลงจะดีไหม แล้วก็ขอให้ผู้ที่อยู่แถวหน้านี่เลื่อนมาประมาณ ๒ เมตร มาข้างหน้า ที่ให้เลื่อน ๒ เมตรท่านก็ได้เอา ๔ เมตร อันนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะทําให้ได้กําไรที่ประมาณ ๒๐๐ คน คนที่อยู่ข้างนอก ไม่รู้ด้วย ถ้าเขาอยากเข้ามาข้างในก็มีที่แล้ว
ที่ไม่เกรงใจท่านทั้งหลายให้มาอยู่ในที่นี้อย่างแออัด ซึ่งที่นี้ก็เป็นที่สําหรับต้อนรับคนจํานวนประมาณสัก ๑,๐๐๐ คน แต่ท่านทั้งหลายมาถึงประมาณ ๔,๐๐๐ คน ย่อมจะทําให้อัดแอ แต่ที่บอกว่าไม่เกรงใจท่านเพราะเหตุว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้ขอมา ไม่ได้กะเกณฑ์ให้มาแต่ประการใด ฉะนั้น ความไม่สบายก็ตกอยู่กับท่านและความรับผิดชอบในความไม่สบายนั้นก็ตกอยู่แก่ท่านเหมือนกัน
แต่การให้ท่านทั้งหลายมานั้นก็ตระหนักดีว่า ท่านมาสําหรับให้พร ให้มีความเจริญในโอกาสวันเกิดเป็นประเพณีอยู่ว่าใครฉลองวันเกิดย่อมมีผู้ที่ไปให้พรโ ดยมากก็ไปให้พรให้เจริญให้พร ให้อายุยืน เฉพาะในวันเกิด แต่ก็เป็นประเพณีซึ่งมีเหตุผล เพราะว่าถ้าจะไปให้พรกับผู้ใดจะไปให้พรในวันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วันเกิดก็อาจจะไม่ค่อยมีเหตุผล และก็อาจจะไม่สะดวกสําหรับผู้ที่ได้รับพร เพราะว่าจะต้องต้อนรับทุกวัน บางคนก็ได้รับพรบางคนก็ได้รับการด่า แต่ว่าการด่านั้นสังเกตดูว่าด่ากันทุก ๆ วัน การให้พรนั้นต้องหาโอกาส แต่ว่าการที่ท่านทั้งหลายมาให้พรนั้นก็น่าคิด เพราะว่าโดยมากก็ให้พรให้เจริญ ให้พรให้ปลอดภัย ให้พรให้แข็งแรง ให้อายุยืน พรนั้นจะเป็นเหตุผลได้อย่างไร เพราะว่าถ้าพูดถึงความแข็งแรงก็แข็งแรง เรื่องร่างกายเป็นสําคัญ ถ้าบอกว่าขอให้ปราศจากโรคแล้วโรคจะไม่เบียดเบียน ก็ต้องเบียดเบียนอยู่ดีเพราะว่าเป็นธรรมดา ฉะนั้นก็แปลกอยู่ที่ทําไมเวลาใครมาบอกว่าขอให้จงปราศจากโรค ทําไมทําให้แข็งแรงขึ้นจริง ๆ หรืออย่างที่ท่านทั้งหลายมาให้พรในวันนี้ความจริงสําหรับร่างกายก็เสื่อมสุขภาพ เพราะว่าก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเดินมา ที่จริงก็ไม่เหนื่อยมากนัก แต่ว่าก็ต้องใช้กําลังกาย เท่ากับต้องใช้สุขภาพของร่างกายมา แล้วก็มานั่งฟังและมายืนพูด ก็เท่ากับต้องใช้กําลังกาย แต่ว่าการให้ได้รับพร โดยที่ได้มีคําอํานวยพรอันไพเราะเพราะพริ้งของอาจารย์ประภาศน์ในนามของท่านทุกคนนั้น ก็นับว่าทําให้มีกําลังใจ กําลังใจก็เกิดทําให้มีกําลังกาย เพราะว่ากายกับใจนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีเป็นสิ่งที่คู่กันไป คนไหนมีใจแต่ไม่มีกายก็รู้สึกว่าลําบาก ไม่รู้เป็นอะไร คนที่มีกายแล้วไม่มีใจนั้น บางคนก็มีแต่คนเช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานใด ๆ แล้วส่วนมากเขาก็เรียกว่า “ผี” แต่ว่าผีนั้นความจริงเท่ากับมีแต่ใจ มีทั้งผีดีทั้งผีไม่ดีผีดีนั้นก็หมายความว่าผู้ที่มีจิตใจดีแต่ก็ต้องไปอยู่ในภพอื่น ส่วนผีไม่ดีนั้นซึ่งมีเป็นอันมาก เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติตนไม่ดีได้ใช้ร่างกายไม่ดีเมื่อไปภพอื่นก็กลับเป็นผีที่ไม่ดี
ดังนี้ ก็เห็นได้ชัดว่ากายกับใจนี้สอดคล้องกัน เพราะว่าผู้ที่เป็นผีดีก็เป็นผู้ที่ได้ใช้กายของตนอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ได้ปฏิบัติงานอย่างเพียร และอย่างสุจริตก็เป็นผีดีส่วนผีที่ไม่ดีนั้นก็ได้ปฏิบัติด้วยกายของตัวที่ไม่ดีไม่ชอบฉ้อโกงเขาบ้างหรือกลั่นแกล้งเขาบ้าง ซึ่งพวกเราทั้งหลายก็ไม่ชอบ แต่ว่าผีที่เป็นผีไม่ดีนั้นตัวผีเองก็คงไม่ชอบเหมือนกัน เพราะว่ากลายเป็นผีไม่ดีต้องทนทุกข์ทรมานทั้งจิตใจและร่างกายที่เขานึกว่าเป็นของตัวฉะนั้นคนที่มีทั้งกายและใจอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงต้องพยายามใช้กายและใจของตัวเองให้ดี ถ้าหากว่าวันหนึ่งจะเป็นผีก็จะได้เป็นผีดีแล้วผีดีนั้นก็มีความสุข อันนี้ก็พูดตามที่กลอนพาไป อาจจะเป็นสิ่งที่ประหลาดที่จะพูดในโอกาสที่ใกล้วันเกิดเช่นนี้จะพูดถึงผีแต่ว่าผีนี้มันก็มีอยู่ทั่ว ๆ ไปทุก ๆ แห่ง ฉะนั้นก็คงไม่เป็นของแปลกนัก
การที่อาจารย์ประภาศน์ ได้กล่าวเมื่อตะกี้ถึงกิจการที่ได้ปฏิบัติมา ก็เลยทําให้ประหยัดไม่ต้องเล่าให้ท่านฟังว่าไปทําอะไรบ้าง เพราะว่าถ้ามาอย่างนี้มาให้พรในวันเกิดนี้ก็กลายเป็นประเพณีไปที่จะได้เล่าเรื่องต่าง ๆ หรือให้ความคิดแปลก ๆ ต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นการตอบแทนความอุตสาหะที่ท่านมา และตอบแทนพรที่ท่านได้ให้การที่อาจารย์ประภาศน์ได้กล่าวถึงกิจการต่าง ๆ ก็นับว่ากว้างขวาง แต่ก็เอาจากที่ได้พูด และเอาอย่างที่คิดออกเรื่องหนึ่งซึ่งอาจเป็นเรื่องไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ก็เรื่องธนาคารข้าวกับธนาคารโคกระบือ
ข้อนี้นะกลุ้มใจมาปีหนึ่งแล้ว เพราะว่ามีคนเขาบอกว่าธนาคารข้าวนั้นไม่เหมาะสมที่จะเรียกธนาคารข้าว คือคําว่าธนาคารนี้เขาคัดค้านกัน ไม่ทราบว่าในใจของท่านทั้งหลายเข้าใจกิจการนี้หรือไม่ ได้เห็นบ้างหรือไม่ หรือได้คัดค้านในใจบ้างหรือไม่ ว่าการใช้คําว่าธนาคารนี้ไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารโคกระบือ เขาก็ยิ่งคัดค้านอาจจะเป็นว่านักธนาคารเขาไม่ชอบใจ ที่ว่านักธนาคารนั้นเขาถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ทําไมจะไปเปรียบเทียบกับโคกระบือแต่ขอแก้ว่า ไม่ใช่แก้ตัว แต่แก้คํา ว่าธนาคารนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นกิจการ อาคารก็แปลว่าตึกหรืออาคาร ธนะ ก็แปลว่าเงินหรือทองหรือทรัพย์ที่ใช้สําหรับซื้อขายของแทนการแลกเปลี่ยนของ ก็เป็นธนะ ธนะก็อาจจะเรียกว่าเป็นความร่ํารวยก็ได้อย่างคําว่าธนบัตร ธนบัตรก็แปลว่าบัตรเป็นใบแทนความร่ํารวย ธนาคารก็เป็นอาคารที่เก็บความร่ํารวยไว้ถ้าหากว่าจะเรียกว่าธนาคารค่าที่จริงก็เป็นอาคารเป็นยุ้ง คํานี้คนบางคนเขาอยากให้เรียกว่ากิจการยุ้งข้าว ยุ้งข้าวนี้เขาเรียกกันที่เก็บข้าว จะเรียกกันว่ากิจการที่เก็บข้าวก็ไม่ถูก เพราะว่าธนาคารข้าวนั้น มีกิจการที่เกี่ยวข้องเหมือนการธนาคาร มีข้าวอยู่เป็นทุน และเมื่อชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านที่ตั้งธนาคารข้าวนั้นเขาขาดแคลนข้าว เขาต้องการมีข้าวใช้ เพราะว่าเขายังเกี่ยวไม่ได้ หรือไม่มีเงินไปซื้อ เขาก็มาขอยืมคือกู้จากธนาคารข้าว เสร็จแล้วเมื่อทําการเก็บเกี่ยวได้เรียบร้อยแล้ว เขาก็จะเอามาคืน หรือเขาอาจจะไปหากินรับจ้างทํางาน จะสร้างถนน หรือสร้างบ้าน หรือมาทําสวน หรือทําอะไรก็ตาม และมีเงิน เขาก็ไปซื้อข้าวไปทดแทนข้าวที่เขายืมมาหรือกู้มา โดยมีดอกเบี้ย เรื่องดอกเบี้ยนี้พวกที่เป็นสมาชิกธนาคารข้าวเป็นผู้ตั้งขึ้นมาเอง โดยมากก็เป็นว่ากู้ยืมข้าวไป ๑๐ ถัง ก็เอามาคืน ๑๑ ถัง หมายถวามว่า ๑๐% ซึ่งบางแห่งเขาตั้งดอกเบี้ยนั้นเองด้วยการตกลงกันระหว่างชาวบ้าน เขาเอามาคืน ๑๒ หรือ ๑๓ ถัง หมายความว่าเป็น ๒๐% ๓๐% อันนี้ไม่ใช่ทางราชการไปบังคับเขา เขาดําเนินกิจการของเขาเอง เป็นการทําให้ชาวบ้านมีข้าวรับประทาน ในระหว่างที่ยังไม่มีรายได้หรือยังไม่ได้มีข้าวที่เก็บเกี่ยวมา
ฉะนั้น ทําให้เขาสบายใจ และมีทางที่จะทํางานของตนได้อย่างสบายมีกําลัง อันนี้ก็ได้เกี่ยวข้องกับโครงการที่จะให้มีงานทํานอกฤดูกาลการทํานา หรือแม้จะอยู่ในฤดูกาลการทํานาแต่เกิดมีภัยธรรมชาติเช่นน้ําท่วม หรือน้ําแห้งเกิดขึ้น ปีนั้นเก็บเกี่ยวข้าวไม่ได้เขาก็จะไปทําอาชีพอื่นได้เช่นทอผ้าหรือทําหัตถกรรมอื่น ๆ ไปรับจ้าง เรื่องทอผ้านี้ก็เป็นเรื่องของแผนกศิลปาชีพ ซึ่งเป็นแผนกที่เวลาไปเยี่ยมราษฎร เป็นแผนกสําคัญ ก็ขอเล่านิดหน่อยว่าเวลาไปเยี่ยมราษฎรมีการปฏิบัติอย่างไร เพราะว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวนี้
การไปเยี่ยมราษฎร มีหน่วยหนึ่งที่ออกไปไต่ถามประชาชนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ําและดิน เป็นหน่วยพัฒนาการหน่วยหนึ่ง อีกหน่วยหนึ่งก็ไปไต่ถามเกี่ยวข้องกับงานในด้านศิลปาชีพ และอีกหน่วยหนึ่งเป็นหน่วยการแพทย์ ไปสํารวจเกี่ยวข้องกับอนามัยของชาวบ้าน เป็นอันว่าเป็น ๓ หน่วยที่แยกออกไป เมื่อถึงหมู่บ้านหนึ่งหรือถึงจุดหมายแห่งหนึ่ง ก็แยกเป็น ๓ เมื่อไปเชียงใหม่ตอนต้นปีก็เลยได้ใช้ชื่อว่าเป็น ๓ หน่วยนี้คือ พ่อ ลูก ๒ คน เป็น ๓ คน ก็หมายความว่าเป็น ๓ หรือกลายเป็น “ทรีโอ” แล้วเราก็เรียกกันว่าเป็น “เดอะโกสลี่ ทรีโอ” แนะผีเข้ามาแล้ว คือมีการ์ตูนที่เด็กเขาอ่าน มีผี๓ ตัว แต่ผีฝรั่งแล้วเขาก็เป็น “ทรีโอ” เขาออกไปด้วยกันเสมอ ก็มีตัวหนึ่งที่อ้วน คนที่อ้วนก็ถือตัวเป็นตัวอ้วน มีตัวหนึ่งที่ขี้เกียจ คนที่ขี้เกียจก็ถือตัวว่าเป็นตัวขี้เกียจ แล้วมีตัวหนึ่งที่ขี้โมโห ตัวคนที่ขี้โมโหก็เป็นตัวผีที่ขี้โมโห เลยออกไป แต่ความจริงมีประโยชน์มาก และมีประสิทธิภาพมาก เวลาไปถึงไหนก็แยก 3 ทาง และไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีเมื่อถึงเวลาแล้วก็กลับมาขึ้นรถไปจุดหมายต่อไป ก็ได้งานดีอันนี้เล่าถึงวิธีการที่ทํา จึงเห็นว่ามีการพัฒนาในด้านความเป็นอยู่ที่จะทําให้เขาทําการเพาะปลูกได้มีการพัฒนาในด้านที่จะให้เขามีอาชีพ เพื่อการเพาะปลูกไม่เรียบร้อย คือขาดน้ําหรือมีน้ํามากเกินไป
คราวนี้มาพูดถึงน้ํามากน้ําน้อย อันนี้ไปทั่วทุกแห่งจะเห็นได้ถามว่าปีนี้เป็นอย่างไร บางคนก็บอกว่าน้ําท่วม อีกคนก็บอกว่าน้ําแล้ง ในที่เดียวกัน อันนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะเป็นความจริงทั้งคู่ ทั้งสองอย่าง และเป็นความจริงโดยแท้สําหรับชีวิตของคนเราทุกคน เราไม่มีทางที่จะมีความพอใจ ถ้ามีน้ํามากก็บ่นว่าน้ํามาก โดยเฉพาะกรุงเทพ ฯ ก็สบายไป ๓ เดือน มีน้ํามากแล้วก็บอกว่าไม่ดีอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าปีนี้มันแล้งไม่มีน้ําก็ทําให้ไม่สบายเหมือนกัน แต่ละคนเขาก็บอกว่าที่เขาบอกว่าน้ําแห้ง เสร็จแล้วพอเคี่ยวเข็ญ ก็เลยทราบว่าน้ําแห้งอย่างไร เพราะว่าข้าวนี้ตอนต้นฤดูจะต้องมีน้ําที่จะให้ต้นข้าวเติบโตขึ้นได้ตอนต้นฤดูกาลนั้นฝนมาล่า ทําให้ไม่สามารถที่จะปักดําได้ จึงทําให้ข้าวเสียหายไปบ้าง เสร็จแล้วกลางฤดูกาล ฝนมามากก็ทําให้น้ําท่วมต้นข้าวที่ปลูกหรือปักดําช้าไปก็ไม่สามารถที่เจริญเติบโตขึ้นมา ทําให้ข้าวนั้นเสียไป เปื่อยไปบ้างเวลาปลายฤดูกาล ซึ่งมีข้าวที่รอดจากน้ําท่วมน้ําแห้งมีอยู่ก็เติบโตขึ้น ถึงจวนจะเก็บเกี่ยวได้ต้องมีน้ํา น้ําก็ขาด ฉะนั้น ก็ถูกต้องที่เขาบอกว่าน้ําแห้งข้าวเสีย ข้าวเสียเพราะน้ําแห้งตาย เพราะตากแดดอยู่เฉย ๆ ก็ตาย บางคนก็บอกว่ามันเปื่อยหมายความว่าโดนน้ําแล้วมันก็เปื่อยเน่า บางคนที่บอกไว้แห้ง เสร็จแล้วก็เคี่ยวเข็ญบอกว่ามันจริงว่าแห้งเสร็จแล้วก็เปียก แล้วก็บางคนก็บอกว่ามันเปียก ก็บอกว่ามันเปียกแล้ว แล้วมันก็แห้ง เป็นของธรรมดาของชีวิตของเรา เวลาเปียกแล้วก็ต้องแห้ง แห้งแล้วก็ต้องเปียก เจ็บแล้วก็ต้องหายเจ็บ หายเจ็บแล้วก็ต้องเจ็บใหม่เป็นธรรมดา
ฉะนั้นดูแล้วการที่ทํากิจการใด ๆ ก็ต้องมีอุปสรรคเสมอ ข้อนี้เห็นได้ว่าการทํานาจะต้องมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องครบ ถ้าปัจจัยไม่ครบ หรือผิดจังหวะไม่ถูกหลักแล้วข้าวที่เรากินนั้นจะไม่มี
ในกิจการอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามาดูในตัวเราเอง ร่างกายของเรา เรามีแขน มีขา มีหัว มีลําตัว มีอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายนอก ภายใน ถ้าส่วนใดไม่สอดคล้องกันเราก็บอกว่าไม่สบาย ป่วย แล้วคนเราที่จะมีความสบายจริง ๆ ก็หาเวลาน้อย ต้องนึกถึงว่าทุกส่วนของร่างหายของเรา จะต้องทํางานให้พร้อมกัน ให้มีความสามัคคีกัน ถ้าไม่มีความสามัคคีกัน ร่างกายของเราต่างคนต่างทํา หรือต่างส่วนต่างทํางานของตัว ก็ไม่สามารถที่จะทํางานได้ ถ้าดูเฉพาะกาย แต่ว่าอีกส่วนก็มีใจ คือจิตใจของเรา ซึ่งจะต้องทํางานเหมือนกัน เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับร่างกาย ถ้าทําไม่สอดคล้องกันก็จะเป็นอย่างที่ว่า ก็จะต้องเป็นผีส่วนหนึ่ง แล้วเป็นศพอีกส่วนหนึ่งก็ไม่ทราบว่าจะทําอย่างไร
ฉะนั้น เราจะต้องรักษากายของเราให้สามัคคีกัน แล้วก็ปรองดอกอยู่ดีแล้วก็แข็งแรง เราก็สบาย เมื่อตั้งเป็นคณะอย่างคณะบุคคลที่มานี่ แต่ละคณะ ๆ ถ้าปรองดองกันเป็นคณะก็ตั้งขึ้นมาเป็นคณะ ถ้าเป็นสถาบันอะไร แล้วทํางานตามหน้าที่ของตนก็เป็นสถาบันนั้น ๆ ถ้าหากว่าสถาบันหนึ่ง หรือส่วนหนึ่งของสถาบัน คือ บุคคลที่ประกอบเป็นสถาบัน ไม่ทําตามกฎบังคับ หรือตามจุดประสงค์ของสถาบันนั้น ๆ ก็ไม่เรียกว่าเป็นสถาบัน ก็สลายไป พังไป ไม่มีประโยชน์ตามที่ตั้งประโยชน์ขึ้นมา ยิ่งเป็นเรื่องของชาติบ้านเมืองถ้าแต่ละคน ๆ ต่างบอกว่า ตัวเป็นนักอาชีพอย่างนั้น ๆ มีหน้าที่อย่างนั้น ๆ ก็ทําไป นั่นดีทําหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ให้เป็นประโยชน์อย่างที่อาจารย์ประภาศน์ว่า ปฏิญาณตนแล้ว เมื่อท่านมาโดยสมัครใจของแต่ละท่าน ก็นับว่าต้องยอมรับคําที่ว่า แต่ละคนหรือแต่ละสถาบันจะทํางานในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันนี้ก็ถือว่าท่านได้มอบฉันทะให้อาจารย์ประภาศน์พูด อาจารย์ประภาศน์พูดไปอย่างนั้นแล้ว ก็ถือว่าแต่ละคน ๆ จะเป็นผู้ใหญ่ จะเป็นเด็ก จะเป็นผู้หญิง จะเป็นผู้ชาย ทุกคนก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานอย่างนั้นแล้วว่าจะทําหน้าที่ของตน ให้ดีให้สุจริต ปราศจากอคติ
ฉะนั้นการทําอย่างนี้ คือแต่ละคนตั้งใจจะทําหน้าที่ของตนให้ดีตามที่ตั้งหน้าที่ไว้เป็นของที่ดีมาก และหวังที่จะทําให้ตนมีความสุขสบาย โดยที่แต่ละคนก็มีอาชีพแตกต่างกัน แต่ละคนแต่ละบุคคลก็เป็นคนหนึ่ง ๆ ก็ทําเพื่อความสุขของตน แต่จะยังไม่สมบูรณ์ ถ้าหากว่าแต่ละคนทําหน้าที่ของตน และสอดคล้องกับงานอื่นจิตใจของคนอื่น ที่ประกอบขึ้นมาเป็นหมู่สังคมของประเทศไทย เรียกว่าชาวบ้านของประเทศ หรือจะเรียกว่าเป็นประชากรก็ได้ จะเป็นราษฎรหรือเป็นชาวไทยทั้งหมด ถ้าทําให้สอดคล้องกันหมด แต่ละคนทําหน้าที่ของตน และตระหนักไว้ว่าหน้าที่นั้นจะไม่เบียดเบียนคนอื่น
จะสรุปอยู่ในคําว่าสามัคคี คือสามัคคีนี่จะต้องมีความฉลาดถึงจะสามัคคีได้เพราะว่าบางทีเราหวังดีอยากทําดีใคร ๆ ก็บอกว่าจะทําดีจะซื่อสัตย์สุจริต แต่ถ้าไม่มีความฉลาดแล้ว ไม่รู้ว่าซื่อสัตย์สุจริตคืออะไร ต้องพิจารณาว่าซื่อสัตย์สุจริตคืออะไร ความซื่อสัตย์สุจริตความดีความเผื่อแผ่นั้น ต้องทําความฉลาด ต้องตระหนัก ต้องพิจารณาว่าคืออะไร เราทําอะไรต้องรู้ว่าไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมชาติ แล้วงานที่ตนทําก็จะเป็นงานที่ดี งานที่สุจริต งานที่เป็นประโยชน์ประโยชน์นี้เป็นประโยชน์ที่ตกแก่ชาติถ้าเราทํางานที่ดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความเผื่อแผ่สอดคล้องกับหน่วยอื่นกับผู้อื่น และให้เป็นประโยชน์ที่เรียกว่าเป็นประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์นั้นตกแก่ชาติตินี้ก็ประกอบด้วยบุคคลนั่นเอง ชาติถ้าไม่มีบุคคล ไม่มีพลเมือง ไม่มีชาวไทย ไม่มีคนไทย ก็ไม่มีชาติไทย หาไม่ได้เพราะว่าจะกลายเป็นผีนั่นเอง ไม่เป็นประเทศ
ถ้าทุกคนซึ่งประกอบขึ้นมาเป็นประเทศ ทําดี ประโยชน์ตกแก่ชาติ เมื่อประโยชน์ตกแก่ชาติแล้วประโยชน์ก็ตกแก่บุคคลนั่นเอง บุคคลทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นคนไทยก็จะได้มีความภูมิใจและมีความสะดวก ความสบาย ความก้าวหน้า ในการที่จะทําให้สอดคล้องนั้นยากเป็นสิ่งที่ยาก ต้องยอมรับว่ายาก และต้องคิดมาก ๆ แม้จะคิดมาก ๆ มีความฉลาดขึ้นมา มีวิชาความรู้ดีขึ้นมา แต่ละคนทําหน้าที่ของตนก็ยังยากที่จะทําให้ประเทศชาตินี้ มั่นคง เจริญดังใจ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จะทําให้ประเทศชาติอยู่รอดได้เพื่อพัฒนาขึ้นมาให้มั่นคงเจริญดังที่ปรารถนา ถ้าหากว่าแต่ละคนนึกถึงตัวเองมากเกินไป หมายความว่านึกถึงตัวเองในทางที่ว่า ตัวมีความรู้อย่างนี้ๆ จะต้องให้ความรู้นี้สําเร็จไปคนอื่นไม่เห็นด้วยก็ช่างเขา คนอื่นไม่เข้าใจช่างเขา คนอื่นเสียประโยชน์ช่างเขา นั้นไม่ได้ เพราะถ้าประเทศชาติส่วนรวมเสียประโยชน์ ในที่สุดเราเองก็เสียประโยชน์
บางคนที่เป็นผู้ที่มีความฉลาดปราดเปรื่อง ก็เกิดมีทฤษฎีขึ้นมา โดยมากก็ขอยืมมาจากต่างประเทศ ที่เรียกว่าขอยืมก็เพราะว่าไม่ใช่ของเรา ขอยืมวิชาการต่าง ๆ มาแล้วก็นึกอยากทําให้สําเร็จในเมืองไทย จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เก่ง ได้นําวิชาการทฤษฎีที่ไม่เป็นไทยมาใช้คือไม่ใช่ของเรา ถ้าเอามาใช้แล้วสอดคล้องกับคนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก ยอดเยี่ยม บางทีนํามาใช้โดยที่ไม่สอดคล้องกับประเทศชาติของเรา แต่ว่าก็ดื้อดันอยากจะทําให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา คือประโยชน์ของตัว จะได้ชื่อว่าเป็นคนฉลาด ได้ชื่อว่าตัวเป็นผู้ทําในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ได้ทําและทําสําเร็จ การทําในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ทําและทําสําเร็จนั้นเป็นของดีแต่ว่าถ้าทําให้คนอื่นเขาเสียประโยชน์ปละทําให้ความสําเร็จนั้นเพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อจะให้ได้ชื่อนั้นไม่ดี บางทีก็ทําให้กิจการของตนเองล้มเหลวไป อันนี้เป็นความคิดแนวหนึ่งที่อาจจะนําไปพิจารณา อาจจะเป็นประโยชน์ได้
การที่ได้ไปช่วยชาวบ้าน หรือพัฒนาบ้านเมือง จะต้องมีการวินิจฉัยให้ดีพิจารณาให้รอบคอบว่าอะไรควรทํา อะไรยังไม่ควรทํา หรืออะไรทําได้ก่อนก็ต้องทํา อะไรที่ทําแล้วจะทําให้ชักช้าก็ไม่ควรทํา ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างถนนและการกินข้าว เรื่องหนึ่งเขามาบอกว่าถนนที่ผ่านตรงนี้มีฝุ่นมาก ขอให้ลาดยางตลอดสายเพราะว่าเสียสุขภาพ อันนี้ก็เป็นความจริง แต่ถ้าหากว่าถนนนั้นเป็นถนนลูกรังที่ใช้การได้พอสมควร ก็ยังใช้ได้เพราะมีสิ่งที่เร่งด่วนกว่าคือจะต้องหาแหล่งน้ําให้เพื่อที่จะให้สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปีทํานาและปลูกพืชอื่น ๆ หมุนเวียน ซึ่งจะทําให้ชาวบ้านมีรายได้ขึ้นไปมาก ๒-๓ เท่าของที่เคยทําได้หรืออาจจะมากกว่านั้นเพราะว่าบางปีก็แห้งบางปีก็เปียก ฉะนั้นก็เลยถามเขาว่า พวกเราชอบกินอะไร ชอบกินข้าวหรือชอบกินฝุ่น เขาก็บอกว่าชอบกินข้าว ถ้าชอบกินข้าวก็สมควรที่จะพัฒนาให้ข้าวมีมากขึ้น ให้มีรายได้ เมื่อกินข้าวได้แล้วและมีรายได้มากขึ้น การลาดยางพัฒนาถนนนั้นเป็นเรื่องเล็กง่ายมาก เขาก็พอเข้าใจ อันนี้ที่มาเล่าให้ฟัง เพราะอาจจะมีใครมาฟ้องท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าอยู่หัวไปต่างจังหวัด ไปเล่นลิ้น แต่ไม่ทราบว่าพูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายจะวินิจฉัยว่าเป็นการเล่นหรือไม่แต่รู้สึกว่าเป็นความจริง
อันนี้ เรื่องหนึ่งอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย อีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นไปบนภูเขา ตอนนั้นไปเฮลิคอปเตอร์ เวลาลงจากเฮลิคอปเตอร์ เครื่องใบพัดยังไม่ทันหยุด มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชาวม้งวิ่งเข้ามาบอก “พ่อ ๆ ๆ ดีใจเหลือเกิน” แล้วบอก “พ่อ ขออย่างหนึ่งได้ไหม ขอให้ไปพบประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้าน” เขาอยากพบก็เลยตกลง บอก “เอา ไป ๆ” ก็เดิน ๆ ไป เดินไปเดินมาก็เลยชักจะรู้ไส้นิดหน่อย ก็บอกกับพวกชาวเขาว่า “ได้ยินว่าอยากได้ถนนขึ้นมาใช่ไหม” “อ้อ.....ใช่ ๆ ๆ อยากได้ถนนขึ้นมาซื่อเลย” หมายความว่าตรงขึ้นมา ภูเขาลําธารอะไรผ่านหมดเลย เขาบอกมีทางขึ้นได้ก็เลยบอกว่า “เอ๊ะ......ถนนนี่มันแพงนะ ตัดซื่อขึ้นมาหมายความว่าจะต้องบุกเบิกขึ้นมา ตัดเนินภูเขาขึ้นมา” ที่จริงถนนเขาก็ได้มาแล้วอีกข้างหนึ่ง อีกด้านหนึ่งโดยที่ผ่านไปไร่ ป่าไม้ดอยอินทนนท์ ทางเหนือของดอยอินทนนท์ไปได้เขาก็บอกว่าสํารวจทางแล้ว ได้พูดกับเจ้าหน้าที่ ๓ ล้านบาทเท่านั้นเอง
ที่จริง ๓ ล้านบาท สําหรับถนนที่สร้างอย่างนั้นก็นับว่าถูกมาก ก็เลยทราบคือทราบดีว่า ถ้าสมมติว่าบอกเอาอยากได้ถนนซื่อก็เอา เชื่อว่าต้องสิ้นเงินไปกว่า ๓ ล้านบาท แล้วจะเอามาจากไหน ก็เลยบอกกับเขาว่า ตอนนี้ทางขึ้นก็มีอยู่แล้ว รถยนต์ขึ้นมาได้ดีพอสมควร ใช้เวลาเพิ่มขึ้นหน่อย ต้องผ่านทางบ้านห้วยต้องอะไรนั้นนะ ต้องอ้อมหน่อย ก็เลยเป็นอันว่าต้องฉายซ้ําบอกว่า เรากินข้าวหรือกินฝุ่นดีเขาก็บอกกินข้าวดีเขาก็เห็นด้วยที่จะพัฒนาให้มีข้าวกิน ให้เพราะปลูกทําข้าวโพด ทําอะไรให้ดีเขาก็เห็นด้วย ก็เลยไปอันว่าเขาพอใจ ไม่ต้องทําถนนตรงนี้ขึ้นมา เขาสบายใจแล้ว แล้วเดิน ๆ ไป ถามว่า “แล้วประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้านที่เขาอยากพบนะ เขาอยู่ที่ไหน” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเขาบอก “เออ......อยากพบเรอะ” นี่แหละเพราะเหตุใด เพราะว่าผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเขาไปบอกกับประธานรุ่นว่าขอให้สนับสนุนเขาในการสร้างถนน แล้วเขาจะสนับสนุนให้ไปช่วยทําศาลารวมใจให้ที่หมู่บ้าน แต่ว่าโดยที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้วเรื่องถนน ว่ากินข้าวดีกว่ากินฝุ่น ก็เลยหมดภาระเขาเลยไม่พาไป
อันนี้ ก็จิตใจของคนนั้นนะมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของตัว ตกลงกันได้ แล้วก็เป็นว่าผลประโยชน์ของคนอื่นช่างเขา ก็เลยต้องเดินต่อไปก็ไปเจอประธานรุ่น ก็ไปพูดกับเขา ก็รู้แล้วว่าเขาต้องการอะไรเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เราก็ทราบดีแล้ว แต่เข้าไปถามว่า “ต้องการอะไร” เขาบอกว่า “ต้องการให้ทําศาลารวมใจ” คือเป็นที่สําหรับชุมนุมของลูกเสือชาวบ้าน แล้วก็มีหนังสืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นความรู้ที่เราเคยจัดไว้บางแห่งแล้วสําหรับลูกเสือชาวบ้าน เพื่อที่จะให้เป็นที่ชุมนุมแล้วมาหาความรู้ถ้ามีความเดือดร้อนอะไรก็มาจดเอาไว้มีเจ้าหน้าที่ที่มาจากอําเภอหรือมาจากที่อื่น เขาก็มาที่ศาลารวมใจแล้วก็มาดูเป็นศูนย์สําหรับลูกเสือชาวบ้าน ลูกเสือชาวบ้านจึงจะมีประโยชน์เต็มเปี่ยม เขาก็บอกว่าขอทํา เป็นอันว่าประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้านก็ไม่ต้องสนับสนุนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็เลยไม่ได้สนับสนุนประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้าน และในที่สุดก็ไม่มีใครเสียประโยชน์ เพราะว่าลงท้ายก็ได้ติดต่อเกี่ยวข้องกับเรื่องของลูกเสือชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว
แต่ที่เล่าให้ฟังนี้ให้เข้าใจว่า ประโยชน์มันต้องแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้ บางทีทําให้สับสนเป็นการเรียกว่าอาศัยกันมา สําหรับมาขอ มาเรียกร้อง ซึ่งบางทีในชีวิตที่อื่น ในด้านอื่นก็ทํากัน ไม่ใช่บางทีทํากันมากเดี๋ยวนี้ก็ยังทํากันอยู่ ได้ทํามาแล้ว แล้วต่อไปก็จะทํา เขาเรียกว่าแนวร่วมเฉพาะกิจ แนวร่วมเฉพาะกิจบางคนก็ไม่ได้รักกันจริง ๆ หรือไม่ได้มีอุดมคติเหมือนกัน ไม่มีนโยบายเช่นเดียวกัน แต่ก็ร่วมกันโดยเฉพาะในทางการเมือง สมมติว่ามีรัฐบาล เราไม่ต้องสมมุติเพราะมีรัฐบาลอยู่แล้ว มีรัฐบาลแล้วก็มีพวกที่ค้านรัฐบาล ด้วยอุดมคติแต่โดยมากด้วยเหตุผล พวกที่มีผลประโยชน์ก็อาจจะหลายพวกอยากที่จะล้มรัฐบาล อันนี้อย่ามาว่าชี้โพรงให้กระรอก เพราะว่ากระรอกทําแล้ว เขาทํากันอย่างนี้เอาว่าพวกหนึ่งไม่ใช่ว่าไม่ชอบรัฐบาลเขาชอบ แต่เขาชอบผลประโยชน์มากกว่ารัฐบาล เขาก็ไปเข้ากับอีกคนอีกฝ่ายหนึ่ง ร่วมกัน เอะอะ ๆ ว่ารัฐบาลไม่ดีอย่างโน้นไม่ดีอย่างนี้แล้วก็ร่วมกันก็อาจมีกําลังมาก สามารถที่จะล้มรัฐบาลได้คือต่อสู้สําเร็จ
อันนี้เป็นเรื่องเก่าแก่ ปัจจุบันก็ยังมีอนาคตก็ยังมีแต่ว่าเรื่องเก่าแก่จะว่าต้นตํารับก็ไม่ใช่มีตั้งแต่สมัยคนเป็นคนขึ้นมาก็ทํากันอย่างนี้แต่ที่มีชื่อมากที่สุดก็เรื่องสามก๊ก คือสองก๊กก็ต้องเข้ากัน ไม่ชอบกัน ไม่รักกันนะ ต้องเข้ากันล้มก๊กที่สาม เสร็จแล้วเวลาก๊กที่สามนั้นล้มแล้ว สองก๊กนี้ก็เป็นอริกัน ก๊กที่ล้มไปแล้วก็มาเข้าอีกก๊ก ถ้าใครสนใจหรือไม่ต้องสนใจเท่าไรเพราะเห็นมาตลอดเวลา ดูประวัติศาสตร์มันก็เป็นอย่างนั้น สามก๊กนี่เป็นตลอดเวลา บางที่เราเป็นนักเรียนเรียนประวัติศาสตร์ เรางง บางคนที่ชอบประวัติศาสตร์เพราะว่าดูจะเป็นของดีจะเป็นเรื่องของวิวัฒนาการของโลกมนุษย์ ดูไปดูมาแต่ก่อนนี้เราอยู่ในป่าในดงในถ้ํา จนกระทั่งมาสร้างบ้านสร้างเมือขึ้น มีวัฒนธรรมมีอารยธรรมขึ้นมา มันน่าตื่นเต้น แต่ว่าเวลาเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นสูงขึ้นมาลึกซึ้งขึ้นไป มันก็มีเรื่องของผลประโยชน์ทั้งนั้น จะเห็นว่าสงครามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุใด เพราะอยากเป็นใหญ่
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์เวลาไหน ครั้งไหน ครั้งใด ที่ไม่มีสงคราม ประวัติศาสตร์นั้นไม่เป็นประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่เวลาเรียนประวัติศาสตร์สากล ก็เรียนถึงสงครามครั้งโน้น ครั้งนี้เกือบจะไม่ได้พูดถึงสมัยที่สงบศึกแล้วก็เป็นสงบสุข แล้วก็ความสงบศึกที่เป็นประวัติศาสตร์แล้วก็ไม่เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร อันนี้ที่เปลี่ยนเรื่องไปหน่อย แต่ว่าถ้าดูๆ ไปสมัยไหนที่ไม่ตีกัน มีความสุข ความก้าวหน้าในทางความสงบ ไม่ค่อยเป็นประวัติศาสตร์เพราะมันเรียบ ๆ
เมื่อหลายปีมาแล้ว ตอนที่ไปสหรัฐอเมริกา มีทีวีอเมริกันมาสัมภาษณ์ เขาถามว่าในรัชกาลของท่าน ท่านต้องการอะไร จุดหมายต้องการอะไร อยากให้รัชกาลของท่านจารึกในประวัติศาสตร์อย่างไร ก็ต้องตอบเขาว่า ความปรารถนาคือว่ารัชกาลนี้ไม่ขอจารึกในประวัติศาสตร์ ไม่ให้มีเขาก็แปลกใจ แต่ท่านทั้งหลายคงไม่แปลกใจ เพราะอธิบายแล้วว่าถ้ามีความสงบ มีความเรียบร้อยของชาติจะไม่เป็นประวัติศาสตร์ เราไม่ต้องการประวัติศาสตร์ เวลาไหนที่มีสงคราม มีความยุ่งยาก ตีกันนั้นนะเป็นประวัติศาสตร์ ฉะนั้นที่ต้องการก็คือต้องการให้เมืองไทยอยู่ไปอย่างสงบ ไม่ต้องมีอะไรโลดโผนเท่าไหร่ ไม่ต้องมีชื่อ ไม่ต้องดัง แล้วจะมีความสุขและจะยั่งยืน วันไหนที่จะดังเราก็จะดังได้เพราะว่าเราสงบ พวกที่ดัง ทั้งบุคคล ทั้งประเทศ ที่ชอบดัง โดยมากดังได้แต่ดังได้ไม่นาน เพราะว่าถูกตีหัวตาย ถ้าอย่างนั้นต้องแน่นอน คนไหนที่อยากดังต้องถูกตีหัวแน่ ก็เลยไม่อยู่นานได้ อันนี้เป็นหลักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าขอให้ท่านทั้งหลายไม่ทําอะไร แต่ทํางานทําการในหน้าที่ในฐานะของแต่ละคนที่จะต้องทํา ให้ทําอย่างดีๆ ทําเรื่อยไป ไม่ใช่ทําอย่างที่จะอยากดีเด่น ทําดีเด่นไม่ใช่อยากดีเด่นทําให้ดีแล้วก็จะดีเด่นเอง ไม่ใช่ว่าจุดประสงค์ที่จะดีเด่น ก็อย่างที่ว่าไม่ใช่ทําเพื่อดัง แต่ว่าถ้าต้องการจะดังเมื่อไหร่ก็จะดังเอง แล้วดังดีด้วยดังไพเราะ ไม่ใช่ดังอย่างน่ารําคาญหรือน่าเกลียด
ฉะนั้น ก็ได้พูดหลายเรื่องแล้ว เป็นอันว่าที่จริงตั้งใจจะมาบอกว่า ที่ท่านทั้งหลายมาให้พร ก็ทําให้มีกําลังใจ มีกําลังกายแข็งแรง ถ้าบอกว่าให้พรให้เจริญ ก็จะต้องบอกเหมือนสมเด็จกรมพระยานริศฯ เมื่อไปเฝ้าท่านเมื่อพระชันษา ๙๐ ไปบอกว่า ขอให้ทรงพระเจริญถึงวันประสูติของท่าน ขอให้ทรงพระเจริญ ตอนนั้นท่านรับสั่งไม่ค่อยได้เพราะเสียงไม่ค่อยออก เสร็จแล้วท่านก็บอกว่า “เจริญแล้ว” ความจริงก็ถูก เราไปบอกให้ท่านทรงพระเจริญ ไปสั่งให้ท่านเจริญ ความเจริญมันเรื่องของท่าน ท่านเกิดมาท่านก็เจริญแล้ว แต่เวลานั้นฟังแล้วก็ตกใจ เราอึ้ง เลยไม่รู้จะพูดอะไรต่อไป แต่ถ้าท่านทั้งหลายมาบอกว่า ทรงพระเจริญ ก็เข้าใจว่ามีความปรารถนาดี อยากให้เจริญ อันนี้ก็ถือว่าเป็นกําลังใจ และจะทําให้กําลังกายดีขึ้น เพราะว่าถ้าจิตใจเบิกบานร่างกายย่อมแข็งแรงขึ้น โรคภัยไข้เจ็บถ้ามีมาก็ผ่านไปได้
ฉะนั้นการที่ท่านมาในวันนี้ ก็นับว่ามีผลดีแล้วก็หวังว่าจะเป็นผลดีแก่ท่านทั้งหลายด้วย เพราะว่ามาอยู่ในที่อัดแอก็ย่อมเมื่อย ย่อมกระวายกระวายเป็นของธรรมดา แต่ถ้าเอาไปพิจารณาดูแล้ว เมื่อยแล้วมันก็หายเมื่อย มันเป็นไปได้อย่างนั้น แล้วทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตามกฎเกณฑ์นี้ว่า เราเมื่อยเวลานี้อีกหน่อยก็หายเมื่อยถ้าหากว่าอยากจะทําอะไร มันก็เมื่อยเหมือนกัน จะทํางานทําการอะไรก็ตาม ถ้าทําด้วยร่างกายมันก็เมื่อยกายแต่ถ้าทําด้วยใจจะว่าเมื่อยใจ มันหนักใจ มันเหนื่อยใจ มันเป็นไปได้ฉะนั้น การทํางานทําการ ถ้าทําด้วยความร่าเริงใจที่จะทํางานทําการ ความเมื่อยนั้นจะหมดไป ความเหนื่อยจะไม่มีหรือแล้วเราก็ไม่รับ เพราะว่าความเมื่อยของกายความเหนื่อยของใจนั้นมันมีเสมอ แต่ถ้าเราไม่รับมันจะไปไหน มันก็ไม่มีมันเกิดเมื่อยขึ้นมาแล้วก็หายไป
ฉะนั้น การที่จะทํางานให้ดีก็ต้องมีความร่าเริง ความตั้งใจที่จะทํา เมื่อมีความตั้งใจแล้ว ต้องมีความอดทนเหนียวแน่นอย่างเช่นนั่งอยู่นี่ก็เมื่อย เมื่อก็บอกไม่เป็นไรนั่งต่อไป ความเมื่อยมันอยู่ไหน มันไม่อยู่แล้ว คืออยู่แต่ว่ามันทําอะไรเราไม่ได้ เพราะเราไม่รับ อันนี้เป็นหลัก ถ้าเราทํางานอะไรก็ตามทํางานด้วยกาย หรือทํางานด้วยใจ ความเมื่อยเหนื่อยจะเกิดขึ้น แต่งานนั้นต้องทํา ถ้าทํางานนั้นด้วยความร่าเริง ด้วยความอดทน ด้วยความเพียร งานนั้นจะสําเร็จ โดยที่ความเมื่อยความเหนื่อยมาขัดขวางไม่ได้ความเมื่อยความเหนื่อยนั้นจะต้องล่าถอยไป จะมาโจมตีเราไม่ได้เวลาเราทํางานนนั้นสมมุติว่าเสร็จแล้ว บอกว่า เอ๊ะ......ตะกี้คุณเมื่อย คุณเหนื่อยมา แล้วคุณเมื่อยคุณเหนื่อยไปไหน กลับบ้านไปแล้ว อันนี้เป็นของสําคัญ เมื่อเราทําด้วยความตั้งใจดี อย่างนี้งานก็สําเร็จไปด้วยดีแล้วก็จะต้องพยายามที่จะพิจารณาด้วยให้รู้ว่าเรากําลังทํางานอะไร ไม่งั้นเดี๋ยวเรากําลังทํางานอะไรอย่าง แล้วก็ทําไป กลอนพาไป พูดถึงอย่างตะกี้พูดอะไรแล้ว เสร็จแล้วทําไปทํามากลอนพาไป ก็ไปทางโน้นทางนี้ไปเปลี่ยนเรื่อง
เวลาเราทํางาน เราก็ต้องพยายามพิจารณาว่างานนี้ต้องทํา และงานนี้คืออะไร ให้รู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อรู้อยู่ตลอดเวลาแล้ว งานนั้นเราก็จะทําได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อทําได้ต่อเนื่องแล้ว งานนั้นก็สําเร็จแน่ และเมื่อทําแล้วก็ต้องพยายามดูอยู่เสมอว่า งานนั้นถึงขั้นไหน ไปได้แค่ไหนแล้ว ก็จะได้เห็นว่างานที่ทํานั้นครบถ้วนได้ในไม่ช้า ฉะนั้น วิธีการที่จะทํางานหรือจะวางตัว บําเพ็ญตัว จะต้องอาศัยการระมัดระวังตัวอยู่เสมอ ก็จะเป็นงานที่ดีงานที่ไม่เหนื่อย งานที่ไม่เมื่อย งานที่สําเร็จ งานที่น่าปิติยินดี
ก็ขอให้ท่านทั้งหลายประกอบด้วยความตั้งใจ และด้วยความอดทน ความสําเร็จจะเป็นของท่านทุกอย่าง โดยเฉพาะที่ท่านบอกว่า จะทํางานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และอดทนนั้น ก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม ซึ่งตกแก่ประเทศชาติและผลดีนั้นจะตกแก่แต่ละคน จะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ จะเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย จะเป็นผู้ที่มีหน้าที่งานการใด ๆ ถ้าทําดังนี้แล้วก็จะมีความสําเร็จเรียบร้อย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความร่าเริงใจ มีความอดทน มีความตั้งใจให้มั่นให้ดีก็จะประสบความสําเร็จทุกประการ ขอให้ท่านมีกําลังในจิตใจ ในร่างกายดังนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ส่วนรวม
**ไฟล์ PDF ที่แจกถูกพิมพ์คัดลอกมาจากเอกสารจริงโดยอาสาสมัคร หากผิดพลาดประการใดเพจ "สานต่อที่พ่อทำ" ขออภัยมา ณ ที่นี้
เรียบเรียงโดย : เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ
ที่มา : FB @สานต่อที่พ่อทำ
อ้างอิง : ลิ๊งค์ไฟล์ PDF
กดถูกใจเพจเพื่อติดตามอัพเดททุกเรื่องเด็ด
บอกต่อเรื่องนี้ให้เพื่อนคุณ