เที่ยวให้ได้บุญ "10 อันดับสถานที่ต้องมนต์ขลัง" ไหว้พระเอาฤกษ์ดีมีชัย


"หากคุณยังไม่รู้ไปเที่ยวไหน" ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่ทั้งสวยงามอลังกาลงานสร้าง และเป็นสถานที่น่าแวะไปไหว้สักการะบูชาสักครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อถือเป็นมงคลฤกษ์ที่ดีในการตั้งต้นสู่ความสำเร็จในชีวิตของตนเองและครอบครัวตลอดทั้งปี และนี่คือ 10 อันดับ สถานที่มงคลอันสุดแสนสวยงามและมีมนต์ขลังเป็นที่เคารพบูชาของคนไทย

อันดับที่ 10 ปราสาทสัจธรรม

** คลิกดูแผนที่และเส้นทาง **


          ตั้งอยู่ ณ บริเวณแหลมราชเวช ตำบลนาเกลืออำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ใกล้กับพัทยา บนเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ เป็นสถาปัตยกรรมไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวบ้านเรียกชื่อปราสาทแห่งนี้ว่า "วังโบราณ" หรือ "ปราสาทไม้"  ทุก ๆ ชิ้นส่วนที่ถูกนำมาก่อสร้าง "ปราสาทสัจธรรม" แห่งนี้จะเป็นไม้ทั้งหมด แม้แต่ตัวเข้าล็อกแต่ละชิ้นก็ยังเป็นไม้แกะสลัก ไม่ได้ใช้ีตะปู แต่ใช้ระบบเข้าเดือยไม้แบบไทย หรือ ใส่สลักไม้

          ปราสาทสัจธรรม เป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวของศาสนา ปรัชญา จริยธรรม อารยธรรม วัฒนธรรมดีงามของชาวเอเชียตะวันออก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในอดีต สู่รูปองค์เทพต่างๆ เจ้าของความคิดและผู้ดำเนินการก่อสร้างคือ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ที่เรียกอาคารแห่งนี้ว่า "ปราสาทสัจธรรม" เพราะภายในปราสาทได้แฝงเนื้อหาทางปรัชญา และศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของศาสนา ในฐานะของเครื่องค้ำจุนโลก โดยเน้นหลักสำคัญคือ "การก่อกำเนิดทั้ง 7 และคุณธรรมข้อประพฤติปฏิบัติทั้ง 4" ปราสาทสัจธรรมยังได้รับรางวัลประเภทรายการแหล่งท่องเที่ยวดีเด่น จากรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี พ.ศ. 2551 อีกด้วย

อันดับที่ 9 วัดพระธาตุลำปางหลวง

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย มีความสวยงามและอลังการด้วยศิลปะสถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นในแนวกำแพงใหญ่ ซึ่งทอดยาวกั้นทุกอย่างไว้ในบริเวณวัด ส่วนบันไดด้านหน้าเป็นนาคสองชั้น หัวนาคชั้นแรกเป็นมังกรคล้ายนาค ตามคตินิยมทางเหนือ ชั้นที่สองเป็นหัวนาคหัวเดียว เมื่อเดินขึ้นไปตามบันไดนาคจนถึงประตูซุ้มโค้งหรือประตูโขง ที่ส่วนบนมีลายปูนปั้นเป็นกรองวิมาน มีนาคและหงส์ตามชั้นต่าง ๆ จนถึงยอดดูสวยงามยิ่ง ข้างบนด้านหน้าจะเป็น พระวิหารหลวง เป็นวิหารเปิดโล่งขนาดใหญ่

          วัดพระธาตุลำปางหลวง มีอายุกว่า 500 ปี เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย ได้แก่ ตัวพระธาตุลำปางหลวง วิหารหลวง วิหารพระพุทธ ซุ้มพระบาท กุฎิพระแก้ว วิหารพระเจ้าศิล พิพิธภัณฑ์เครื่องธรรมโบราณ และ "พระแกวดอนเต้า" หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปปางสมาธิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดลำปาง

อันดับที่ 8 วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ บ้านดอน ตำบลโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ วัดแห่งนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2527 ที่ได้ชื่อว่า "วัดล้านขวด" ก็เพราะสถานที่ต่างๆ ภายในวัด ไม่ว่าจะเป็นซุ้มประตูทางเข้า ลานจอดรถ โบสถ์ ศาลา หอระฆัง กุฏิ หรือแม้แต่ห้องน้ำ ต่างถูกประดับประดาด้วยขวดแก้วหลากสีหลายแบบรวมกันกว่า 1,500,000 ขวด จากเดิมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงป่าช้าหนองใหญ่ (ที่ตั้งวัดล้านขวดในปัจจุบัน) ระหว่างนั้นเองก็มีพระภิกษุรูปหนึ่ง เข้ามาพักปักกลดบำเพ็ญตน จึงมีญาติโยมและชาวบ้านแวะเวียนมาปฏิบัติธรรมด้วยอยู่เสมอ ทำให้พระภิกษุเรูปนั้นเกิดความคิดที่จะสร้างวัดขึ้นบนพื้นที่ป่าช้าแห่งนี้

          วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว หรือ วัดล้านขวด ที่มีความงามจากขวดทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพราะความคิดของ "ท่านพระครูวิเวกธรรมาจารย์" หรือ "หลวงปู่ลอด" ซึ่งท่านก็คือพระภิกษุที่เข้ามาปักกลดในป่าช้าดังกล่าว ท่านกล่าวว่าการใช้ขวดนอกจากจะประหยัดแล้ว ยังมีแง่คิดแฝงเป็นนัยว่า ขวดนั้นใสยามเมื่อกระทบแสงแดดจะเปล่งประกาย ดุจแสงธรรมที่เจิดจรัสนั่นเอง หลวงปู่จึงทำการรวบรวมขวดจากหมู่บ้านในละแวกวัด และจากหมู่บ้านใกล้เคียง นำมาสร้างกุฏิหลังแรก ต่อมาเมื่อวัดล้านขวดเป็นที่รู้จักทั่วไป คนในจังหวัดใกล้เคียงก็ได้หลั่งไหลเข้ามาสู่วัด โดยต่างคนต่างก็นำขวดติดไม้ติดรถมาบริจาคด้วย จากนั้นอาคารต่างๆ ก็ได้ทยอยถูกสร้างขึ้น กระทั่งวัดล้านขวดกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ดังเช่นในปัจจุบัน

อันดับที่ 7 วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ บริเวณพระบรมมหาราชวัง ติดท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร  สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2325 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 สร้างตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

          วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้ว นั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยมีพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่วิจิตรตระการตา และยังเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ มีชุดเครื่องทรงประจำองค์พระทั้ง 3 ฤดู

อันดับที่ 6 วัดมหาธาตุ

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เป็นวัดใหญ่ และวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์รายที่มีจำนวนมากถึง 200 องค์ รอบฐานเจดีย์ประธานประดับด้วยภาพปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีเดินประทักษิณโดยรอบจำนวนถึง 168 รูปอีกด้วย

          วัดมหาธาตุ มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา

อันดับที่ 5 วัดอรุณราชวราราม

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการปฏิสังขรณ์วัดเรื่อยมา รวมถึงมีการเปลี่ยนชื่อวัดมาหลายครั้งหลายรัชสมัย เคยเป็นวัดในพระราชวังของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ และยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตและพระบางอีกด้วย (พระบางถูกส่งคืนกลับให้ลาวโดยรัชกาลที่ 1)

          วัดอรุณ หรือ "วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร" เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อ ตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ต่อมาเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่าวัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) และต่อมาอีกก็เชื่อกันว่าใน พ.ศ. 2310 เมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทาง ชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลารุ่งเช้า และถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในสมัยรัชการที่ 2 เป็น "วัดอรุณราชธาราม" และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันว่า "วัดอรุณราชวราราม"

อันดับที่ 4 วัดไชยวัฒนาราม

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดโบราณอายุกว่า 380 ปี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้ เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ และยังถูกสันนิษฐานว่าอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกของเขมรอีกด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด

          วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม ยังเคยเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาอีกกว่า 130 ปี จนกระทั่งถูกใช้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพ สมเด็จพระภูมินทรมหาราชาบรมโกศ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์แห่งอาณาจักรอยุธยา ก่อนถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 200 ปี เมื่อเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนกระทั่งได้รับการอนุรักษ์และบูรณะซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2530

อันดับที่ 3 วัดพระธาตุดอยสุเทพ
ภาพโดย bkktopview.com

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ ถนนศรีวิชัย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นปูชนียสถานคู่ฟ้าคู่ดินของชาวเชียงใหม่มากกว่า 600 ปี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1929 ในสมัยพญากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์มังราย เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัยมาบรรจุไว้ที่นี่ จากนั้นก่อพระเจดีย์ครอบบนนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาค 300 ขั้น เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น และกระทั่งถึงสมัยครูบาศรีวิชัย ท่านได้สร้างถนนขึ้นไป โดยถนนที่สร้างนี้มีความยาวถึง 11.53 กิโลเมตร

          วัดพระธาตุดอยสุเทพ นี้เป็นที่เชื่อกันว่า หากมาสักการะและอธิษฐานขอพร จะมีแต่ความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด ผ่านอุปสรรคนานาไปได้ และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งให้อานิสงส์ที่ต่างกัน คือ ทิศเหนือเพื่อขอให้มีปัญญา ทิศใต้เพื่อขอให้ได้ศีลธรรม ทิศตะวันออกขอให้ได้บุญขึ้นสวรรค์ ทิศตะวันตกเพื่อถวายสักการะสูงสุดต่อพระธาตุ สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อได้มานมัสการพระธาตุดอยสุเทพแล้ว ควรมากราบอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ประดิษฐานอยู่ตรงเชิงดอยสุเทพเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

อันดับที่ 2 วัดโพธิ์

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถนี้ ยังเป็นเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน มีเจดีย์ประมาณ 99 องค์ รวมถึงพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล(ร.1-ร.4) ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ สรรพวิชาไว้ในที่นี้หลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว

          วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "วัดโพธิ์" มีชื่อเต็มทางราชการคือ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร" ซึ่งแต่เดิมคือ "วัดโพธาราม" วัดเก่าแห่งเมืองบางกอกสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่และพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาวาศ" ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม" และใช้ชื่อนี้สืบต่อเรื่อยมา

อันดับที่ 1 วัดร่องขุ่น

** คลิกดูแผนที่ และขอเส้นทาง **

          ตั้งอยู่ ณ ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ออกแบบและก่อสร้างโดย "เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์" ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โดย อ.เฉลิมชัย คาดว่างานก่อสร้างวัดร่องขุ่นจะไม่เสร็จลงภายในช่วงชีวิตของตน วัดร่องขุ่นถอดแบบมาจากวัดมิ่งเมืองของจังหวัดน่าน

          วัดร่องขุ่น ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก 3 สิ่งคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยแฝงนัยยะหรือความหมายทางธรรมของอุโบสถ ไว้ดังนี้

สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สะพาน : การเดินข้ามจากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ
เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
สันของสะพาน : มีอสูรอมกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุ
ดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เรียบเรียงข้อมูลโดย : เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ
อ้างอิง : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ภาพประกอบปกบทความโดย : Pantip.com สมาชิกหมายเลข 1268386

กดติดตามอัพเดททุกเรื่องเด็ด
บอกต่อเรื่องนี้ให้เพื่อนคุณ


About เรื่องเด็ดเจ็ดย่านน้ำ

ขอบคุณทุกเรื่องเด็ด และเรื่องราวดีๆ จากทุกแง่มุมในสังคม เราจะหามาแชร์และส่งต่อให้เพื่อนบนโลกโซเชียลได้รับรู้ รับทราบกันอย่างทั่วถึง คุณเองก็สามารถทำได้ "กดแชร์" เรื่องเด็ดที่คุณชอบเลยสิ!